แต่ละปีพบ ‘บุหรี่’ 4.5 ล้านล้านมวน ถูกทิ้ง-ทำลายสิ่งแวดล้อม
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า นอกจาก “สูบบุหรี่” จะทำลายสุขภาพของคนสูบโดยตรง รวมทั้งคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองแล้ว “สูบบุหรี่” ยังทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย ข้อมูลกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือ OTPC ได้อธิบายและยกตัวอย่าง “บุหรี่” เป็นภัยของสิ่งแวดล้อม ดังนี้
– บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ก่อให้เกิดความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี
– ในขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบ ต้องใช้น้ำในปริมาณเท่ากับ คนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี
– แต่ละปี พื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลก ถูกแผ้วถาง เพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ
– ก้นบุหรี่ มีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด ปนเปื้อนลงสู่ดิน
– แต่ละปี บุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านมวน ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม และพบบ่อยที่สุดบนชายหาด
– ยาสูบผลิตขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเล 100,000 ตัวตาย จากมลพิษพลาสติกทุกปี
ในปี 2565 องค์การอนามัยโลก มีประเด็นรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลก คือ Tobacco: Threat to our environment หรือ “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เพื่อมุ่งหวังปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรยาสูบ เนื่องจากบุหรี่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล ตั้งแต่กระบวนการปลูกยาสูบ การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย การสูบ จนกลายเป็นขยะก้นบุหรี่
ขณะที่ OTPC ได้เน้นใช้กลไกการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมป้องกัน อาทิ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ปลอดบุหรี่ , ปรับปรุงและยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย, สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ทำโครงการชายหาดปลอดบุหรี่นำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเลที่มีชื่อเสียง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแค่คนไทยให้มีสุขภาพดี แต่ยังสร้างภาพลักษณ์ด้านทัศนียภาพความสวยงามให้สถานที่ท่องเที่ยวปลอดจากขยะก้นบุหรี่ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในสภาพที่ดีต่อไปนานๆ